ประวัติ ของ รามา สเปลล์เช็ก

รามา สเปลล์เช็ก พัฒนาโดยนายแพทย์ทวีศักดิ์ จันทร์วิทยานุชิต เมื่อ พ.ศ. 2528 โดยเริ่มพัฒนาให้ใช้งานกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์แอปเปิล II แต่ในขณะนั้น ความนิยมใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์แอปเปิล II เริ่มเสื่อมลง จึงได้หยุดการพัฒนาไว้ชั่วคราว[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 นายแพทย์ทวีศักดิ์ฯ ได้เริ่มเขียนโปรแกรมตรวจคำสะกดภาษาไทยบนเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ IBM PC แต่ยังขาดส่วนของโปรแกรมแก้ไขข้อความอยู่ จึงได้นำโปรแกรม เวิร์ดรามา (WordRama) สำหรับเครื่อง IBM PC ของชมรมไมโครคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งยังไม่เคยออกแผยแพร่ นำมาตัดความสามารถบางส่วนออก และเพิ่มความสามารถในการตรวจคำสะกดภาษาไทย โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาเสร็จสิ้น และนำออกแสดงในงานฉลองครบรอบ 20 ปี โรงพยาบาลรามาธิบดี ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532 แต่ไม่สามารถพัฒนาเสร็จได้ทันเวลา[3]

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2532 ได้ออกรุ่นสดสอบ โดยสามารถใช้งานได้กับการ์ดแสดงผลแบบโมโนโครมที่ดัดแปลงใส่รอมอักขระภาษาไทยลงไป หรือการ์ดภาษาไทย แสดงผลภาษาไทยได้ 7 บรรทัด ในภาวะข้อความ ในช่วงเดียวกันนี้ ทางมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ได้เผยแพร่โปรแกรมประมวลผลคำ ซียูไรเตอร์ โดยโปรแกรมนี้มีการแสดงผลในภาวะกราฟิก ซึ่งมีข้อดีคือไม่ต้องใช้การ์ดภาษาไทยในการแสดงผล ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 นายแพทย์ทวีศักดิ์ฯได้ชวน นายดาวุด สุมานะนันท์ เข้ามาช่วยพัฒนาให้โปรแกรม รามา สเปลล์เช็ก ให้สามารถแสดงผลในภาวะกราฟิกบนการ์ดแสดงผลแบบ Hercules โดยพัฒนาเสร็จในเดือนพฤษจิกายน พ.ศ. 2532[3]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2533 ได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลในภาวะกราฟิกกับการ์ดแสดงผลแบบ VGA โดยมีนายวิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์ เป็นผู้รับอาสาพัฒนา[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ชมรมไมโครคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้แผยแพร่รุ่น 2.1 (RMSC 2.1) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างนายแพทย์วิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์ ผู้พัฒนาส่วนของโปรแกรมแก้ไขข้อความ และอาจารย์ชูเกียรติ แสงมณี ผู้พัฒนาโปรแกรมอลงกต เป็นผู้พัฒนาในส่วนของการพิมพ์[ต้องการอ้างอิง]